Government Jobs, My Works

เทคนิคการทำข้อสอบ ก.พ. และข้อสอบราชการทั่วไป

สวัสดีครับ หลังจากที่สอบ ก.พ. ปี 2562 ล่าสุดเพิ่งจะผ่านพ้นไป ตัวของผมเองก็ได้ไปสอบเช่นเดียวกันกับเพื่อนๆ ในระดับปริญญาตรีและสอบช่วงบ่าย โดยตัวผมเองเพิ่งจะเคยสอบครั้งนี้เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ดี ขอแสดงความยินดีกับเพื่อนๆที่ทำข้อสอบได้และเพื่อนๆที่รู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ไม่เป็นไรนะครับ ปีหน้าก็ยังมีครับ ขอแค่อย่าย่อท้อและสู้ต่อไปครับผม

ผมได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อแนะนำเทคนิคการทำข้อสอบสำหรับเพื่อนๆที่เป็นมือใหม่ และมือเก่าที่ลงสนามมาหลายรอบ โดยมีคติประจำใจว่า

“ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะมาสอบ ก.พ.”

โดยบทความนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการสอบราชการทั่วไปเช่น การสอบ ก.พ. ที่เปิดสอบทุกปี หรือการสอบ กทม. และ ท้องถิ่น เป็นต้น

วิเคราะห์ข้อผิดพลาด

จุดเริ่มต้นแรกของการทำข้อสอบราชการให้ผ่านนั้น คือคุณต้องหาข้อผิดพลาดของตนเองให้เจอก่อนครับ เท่าที่ผมสังเกตและได้รวบรวมข้อมูลมาจากกลุ่มใน Facebook และที่ต่างๆว่าทำไมหลายคนถึงรู้สึกไม่มั่นใจ หรือกล่าวไว้อาลัยกับการสอบครั้งที่ผ่านๆมา มีสาเหตุดังนี้

  • ใช้เวลาทำข้อสอบนานเกินไป

การใช้เวลาทำข้อสอบนานเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำข้อสอบข้ออื่นๆลดลง เนื่องจากคุณมีเวลาที่จำกัดจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถ คิด วิเคราะห์ ข้อสอบข้อนั้นๆได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างเช่น ตารางข้อมูล ที่คุณจำเป็นต้องคำนวณข้อมูลในช่องว่างที่โจทย์ให้มา โดยหากคุณไม่รอบคอบ หรือไม่สามารถคำนวณตัวเลขได้อย่างแม่นยำ จะทำให้เสียเวลาในข้อนี้เป็นเวลานานจนเกินไป จะทำให้การทำข้อสอบข้ออื่นไม่มีเวลาคิดได้เท่าที่ควร หรืออาจทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน และสิ้นสุดด้วยการเดา เป็นต้น

  • ไม่เคยฝึกตะลุยข้อสอบมาก่อน

คุณรู้หรือไม่ครับว่าการที่คุณไม่เคยฝึกทำข้อสอบมาก่อน มีผลเสียมากแค่ไหน คำตอบคือมีผลเสียมากมายเลยทีเดียวครับ เนื่องจากการที่คุณไม่เคยเห็นรูปแบบโจทย์ปัญหามาก่อน จะทำให้คุณมองไม่เห็นวิธีการในการแก้ปัญหาในข้อนั้น

การที่ไม่เคยทำข้อสอบหรือแนวข้อสอบมาก่อน จะทำให้คุณไม่รู้ว่าเรื่องที่กำลังทำนั้นคือเรื่องอะไร แล้วแต่ละเรื่องนั้นมีแนวคิดอย่างไร ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้คุณใช้เวลามากกว่าคนอื่นที่เคยทำข้อสอบหรือเคยเห็นแนวข้อสอบมาก่อนครับ

  • คิดคำนวณไม่รอบคอบเท่าที่ควร

การคิดคำนวณไม่รอบคอบนั้น อาจเกิดจากความประมาทหรือความตื่นสนาม ซึ่งผลเสียที่ตามมาคือ การที่คุณคิดเลขออกมาแล้ว ดันหาคำตอบไม่ได้ หรือ คิดเลขออกมาแล้วได้คำตอบที่ตรงกับตัวเลือก แต่เป็นคำตอบที่โจทย์หลอกมา และทำให้คุณเสียคะแนนในข้อนั้นไป รวมทั้งยังเสียเวลาในการคิดคำนวณนานกว่าผู้เข้าแข่งขันคนอื่นอีก

  • ทำข้อยากจนไม่มีเวลาทำข้อง่าย

ข้อสอบราชการส่วนใหญ่จะเป็นข้อสอบเลือกตอบ 1 ใน 4 ตัวเลือก โดยแต่ละข้อจะมีค่าเท่ากับ 1 คะแนน (หรือแล้วแต่หน่วยงานนั้นๆกำหนด) หากคุณทำข้อยากโดยใช้เวลาคิด 5 นาที ผลก็คือคุณตอบถูกและได้ 1 คะแนน แต่ผลเสียคือเวลา 5 นาทีที่สูญเสียไป อาจจะทำให้คุณสามารถทำข้อง่ายๆ ได้มากถึง 10 ข้อ และอาจจะได้คะแนนเกือบ 10 คะแนนก็ได้ นั่นก็ทำให้เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะข้อง่ายหรือข้อยาก ก็มีค่าเท่ากัน เลือกทำข้อง่ายก่อนเพื่อรักษาเวลาไว้สำหรับข้อยากทีหลังจะดีกว่า

  • อุปกรณ์หรือสถานที่สอบไม่อำนวย

บางครั้งการสอบราชการนั้น จำเป็นที่จะต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับการทำข้อสอบเช่น ดินสอ 2B ยางลบ ปากกา ให้พร้อม แต่อย่าประมาทและพกไปแค่อย่างละชิ้น ควรพกไปเผื่อในกรณีฉุกเฉินด้วย บางครั้งที่คุณทำข้อสอบอยู่แล้วอาจทำดินสอตกจนไส้ดินสอหัก ทำให้ต้องเสียเวลาในการเหลาดินสอใหม่ แต่ถ้าหากคุณเตรียมดินสอหรืออุปกรณ์สำรองมาเพียงพอ คุณแทบจะไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ และสามารถนำเวลาทั้งหมดไปทำข้อสอบได้อย่างเต็มที่ 

เมื่อคุณทราบถึงข้อผิดพลาดดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการรักษารอยรั่วเหล่านั้น เพื่อทำให้คุณมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

แก้ไขข้อผิดพลาด

โดยการแก้ไขข้อผิดพลาดข้างต้นนั้น ผมจะขออธิบายเป็นลำดับ เพื่อทำให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ เริ่มต้นด้วย

  • เริ่มการอ่านและลองทำข้อสอบหรือแนวข้อสอบย้อนหลัง

ขั้นแรกของการสอบราชการคือคุณต้องเริ่มการอ่านหนังสือให้เป็นนิสัยมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าการอ่านหนังสือโดยการไปซื้อจากร้านหนังสือหรือสำนักติวนั้น อาจทำให้คุณเสียเวลาในการอ่านมากขึ้นแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 

ผมแนะนำให้ลองค้นหาติวเตอร์ หรือหนังสือแนวข้อสอบที่ใกล้เคียงกับปีล่าสุด จะเห็นผลได้ชัดเจน ส่วนตัวผมเองแนะนำ เพจ พี่แมง ป. เพจ สอบ ก.พ. ของพี่โย และ ว. วิชาการ

ทำไมถึงเลือกติวเตอร์ 3 ท่านนี้

ผมแนะนำให้ดู 3 ท่านนี้โดยเรียงจาก 

ว. วิชาการ
ว วิชาการ ภาพจาก thaisc.com
  • ว. วิชาการ (สำหรับปูพื้นฐาน แนะแนวสำหรับมือใหม่หัดสอบราชการ)

สำหรับ ว. วิชาการ จะมีวีดีโอสำหรับปูพื้นฐานในทุกหัวข้อของการสอบ เป็นคลิปวีดีโอสั้นๆที่ดูแล้วเข้าใจง่ายมาก หากคุณเพิ่งสอบราชการครั้งแรก แนะนำให้มาติดตาม ว. วิชาการ ไว้ได้เลยครับ จะมีการสรุปเนื้อหาที่จะออกในปีนั้นๆ เพื่อไม่ให้คุณต้องเสียเวลาอ่านหนังสือในจุดที่ไม่มีการออกสอบ ประหยัดเวลาได้มากครับ

เพจ สอบ ก.พ. ของพี่โย
เพจ สอบ ก.พ. ของพี่โย ภาพจาก gorpor.com
  • เพจ สอบ ก.พ. ของพี่โย (มีแนวข้อสอบให้ทดลองทำและมีเฉลยพร้อมคำอธิบาย)

เพจของพี่โย จะมีการนำแนวข้อสอบ หรือมีชื่อที่เรียกกันจนฮิตว่า iTest มาให้ทดลองทำเกือบครบทุกรูปแบบของการสอบราชการ ตั้งแต่ สอบ ก.พ. สอบ กทม. สอบท้องถิ่น และอื่นๆ ซึ่งแนวข้อสอบเหล่านี้มีข้อดีในการใช้ประเมินเวลาในการทำข้อสอบจริง เพราะอย่างที่เคยระบุไว้ว่า การบริหารเวลาในห้องสอบเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เพจ พี่แมง ป.
เพจ พี่แมง ป. ภาพจาก Youtube.com channel พี่แมง ป.
  • เพจ พี่แมง ป. (แนวการคิดคำนวณให้ไวและถูกต้อง อธิบายข้อสอบในเชิงลึก)

เพจของพี่แมง ป. จะมีการสอน Live สดเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆของการสอบ  รวมทั้งเทคนิคการทำข้อสอบเบื้องต้นและเชิงลึก เหมาะสำหรับคนที่เป็นมือเก่าผ่านสนามมาเยอะ เพื่อนำมาปรับวิธีการคิดคำนวณ ทำให้สามารถหาคำตอบได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

หากคุณลองติดตามและนำข้อดีของแต่ละติวเตอร์ไปปรับใช้ ผมรับรองว่าคุณจะมีความมั่นใจในการสอบราชการเพิ่มมากขึ้น และนั่นจะส่งผลดีกับการสอบของคุณอย่างแน่นอนครับ

ทำไมถึงต้องเลือกติวเตอร์และแนวข้อสอบ?

คุณเคยได้ยินคำว่า “ขยันผิดที่ 10ปี ก็ไม่รวย” หรือเปล่าครับ ผมกำลังจะบอกว่า “การอ่านผิดที่ 10ปี ก็สอบไม่ติด” มีส่วนเป็นไปได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว หากคุณมุ่งมั่นที่จะสอบราชการให้ได้ในปีนั้นๆ คุณต้องเริ่มจากการไปหาแนวข้อสอบมาทดลองทำเป็นอันดับแรก และดูจากหลายๆแหล่ง เพื่อให้มั่นใจว่า

  1. แนวข้อสอบที่ทำนั้น คือแนวข้อสอบจริงที่เคยออกสอบมาแล้ว
  2. เรื่องที่ออกสอบ คือเรื่องที่เคยออกสอบมาแล้วหรือมีการประกาศว่าจะออกสอบในปีปัจจุบัน
  3. หัวข้อที่ฝึกทำนั้นออกสอบจริง ไม่ใช่ฝึกทำเรื่องที่ไม่เคยออกสอบ จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
  • บริหารเวลาในการทำข้อสอบให้มีประสิทธิภาพ

ผมขอเน้นย้ำในหัวข้อนี้ว่า หากคุณสามารถจัดสรรเวลาในการทำข้อสอบได้ คุณมีโอกาสสอบติดมากกว่า 75% ครับ

หลายคนที่อ่านหนังสือมาอย่างหนัก ทำข้อสอบมาอย่างหนัก หรือสามารถคิดคำนวณในทุกๆหัวข้อได้อย่างชำนาญ แต่อย่าลืมครับว่า ข้อสอบในห้องสอบนั้นพร้อมที่จะทำให้คุณประหลาดใจได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น คุณจงอย่าเป็นหมูสนามจริงและเป็นสิงห์สนามซ้อม หรือสุดท้ายติวมาดีแทบกระอักเลือด แต่กลับมาตกม้าตายในห้องสอบซะอย่างนั้น

เรื่องของข้อสอบ เป็นเรื่องที่คุณไม่สามารถคาดเดาได้จนกว่าคุณจะได้เข้าไปนั่งสอบในห้องสอบจริงๆ และนั่นทำให้ผมต้องอธิบายในหัวข้อต่อไปว่า 

คุณจะสามารถป้องกันการเกิดเหตุไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในห้องสอบได้อย่างไร (การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า)

*** การบริหารเวลาในห้องสอบ ***

การบริหารเวลาในห้องสอบจริง คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีที่สุด ซึ่งนั่นจะช่วยให้คุณมีเวลามากพอที่จะสามารถเก็บคะแนนในข้อสอบทุกข้อ โดยไม่จำเป็นต้องเดาข้อสอบ

ซึ่งในหัวข้อนี้จะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของบทความ โดยผมได้ใส่ดอกจัน 800 ดอกไว้หน้าและหลังหัวข้อแล้ว เพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดในการสอบครั้งต่อไป

และอีกเรื่องคือ หัวข้อนี้ผมจะพยายามพิมพ์ให้สั้นๆ กระชับ ในแต่ละย่อหน้า ซึ่งอาจจะทำให้ดูเหมือนบทความมันยาว แต่จริงๆไม่มีอะไรมากมายครับ แค่จุดประสงค์ของมันคืออยากให้อ่านง่ายๆ เหมือนการอ่านโพสต์ใน Facebook ก็เท่านั้นเอง

เริ่มกันเลย…

วิชาความรู้ความสามารถทั่วไปในประเทศไทยที่สอบกัน มักประกอบด้วย คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ

ให้คุณยึดหลักที่ผมได้กล่าวไว้ตอนแรกว่า คุณทำข้อยากได้ 1 ข้อ คุณได้ 1 คะแนน คุณทำข้อง่าย 1 ข้อ คุณก็ได้ 1 คะแนน ที่ต่างกันคือ เวลาที่สูญเสียไป

การบริหารเวลาที่ดีคือเริ่มทำข้อสอบจากวิชาที่ใช้เวลาน้อยที่สุดอย่างเช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก่อน

ทำไมถึงต้องเริ่มจาก 2 วิชานี้ก่อน…

ก็เพราะว่า (ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) สองวิชานี้เป็นวิชาที่ มีคำตอบตายตัว คือการที่จะเลือกคำตอบมีเพียงแค่ว่าคุณรู้หรือไม่รู้คำตอบ

หากคุณรู้คำตอบ คุณก็สามารถฝนระบายคำตอบได้ทันที (ยกเว้นหัวข้อการอ่านบางหัวข้อที่ต้องวิเคราะห์)

กลับกันหากคุณไม่รู้คำตอบ ผมมีความเชื่อลึกๆว่า ไม่ว่าคุณจะทำไป ณ​ ตอนนั้นโดยการคาดเดา หรือคุณจะข้ามไปแล้วค่อยกลับมาทำทีหลัง ผมว่าโอกาสในการทำผิดแทบเท่ากัน เพราะงั้นแล้ว ถ้าเป็นผม ผมจะเลือกเดาไปก่อนเลย

เพราะว่าหากคุณเดาไปตอนนั้นเลย คุณจะเสียเวลาไปแค่ ณ ตอนนั้น แต่ถ้าคุณข้ามไปแล้วกลับมาทำทีหลัง คุณอาจจะ

1. คิดข้อนั้นได้คำตอบที่ถูกต้อง (ได้คะแนน)
2. ตอบคำตอบเดิมที่เคยคิดได้ครั้งแรก (เสียเวลา เสียคะแนน)
3. เดาสุ่มไปเลยมั่วๆ (เสียคะแนน แต่ประหยัดเวลา)
4. นั่งคิดจนได้คำตอบใหม่ ซึ่งก็ไม่ถูกต้องเช่นเคย (เสียเวลา เสียคะแนน และน่าเสียใจ)

จะเห็นได้ว่า โอกาสในการตอบถูกนั้นค่อนข้างน้อยมาก คิดเป็น 25% ที่จะตอบถูก

ดังนั้น หากคุณทำใจแล้วว่าข้อนั้นไม่รู้จริงๆ ก็เลือกคำตอบใดคำตอบหนึ่งไปเลย เพื่อรักษาเวลาในการทำข้ออื่นต่อไป

คุณอาจจะตอบผิด แต่สิ่งที่คุณได้คืนมาคือเวลา และเวลาจะทำให้คุณสามารถมีโอกาสในการทำข้อสอบข้อที่เหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เพราะฉะนั้นแล้วการเลือกทำวิชาภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยก่อน เป็นเรื่องที่ดี และจะช่วยให้คุณมีเวลาเหลือในการทำข้อสอบที่ต้องคิดคำนวณอย่างคณิตศาสตร์ได้อย่างเหลือเฟือ

รีวิวการบริหารเวลาของตัวผมเอง

จากการสอบ ก.พ. ปี 62 ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 เมื่อผมได้รับข้อสอบมาและกรรมการประกาศว่าให้สามารถเริ่มทำข้อสอบได้ สิ่งที่ผมทำคือ

  • เริ่มไล่ดูข้อสอบจากหน้าแรกจนหน้าสุดท้าย เพื่อดูว่าวิชาไหนอยู่ตรงไหน
  • ผมตัดสินใจเปิดไปทำภาษาอังกฤษก่อน เนื่องจากเกณฑ์ผ่านกำหนดไว้ว่า 50% ดังนั้นการตัดสินใจทำภาษาอังกฤษก่อนจะทำให้ผมมั่นใจได้อย่างหนึ่งว่า อย่างน้อยก็ผ่านแน่ๆ เพราะผมเริ่มทำเป็นวิชาแรก ทำให้ผมสามารถทำข้อสอบได้ครบทุกข้อ ซึ่งมีอยู่ 4-5 ข้อที่ไม่มั่นใจ แต่ไม่เป็นไร เวลาในการสอบยังเหลืออีกพอสมควร
  • หลังจากทำภาษาอังกฤษเสร็จผมตัดสินใจลองทำภาษาไทย ที่เกี่ยวกับการจับคู่ข้อมูล นั่นก็เพราะว่า ถ้าผมมองภาพออก ผมจะสามารถตอบได้ทันที และถ้าผมมองภาพมันไม่ออกในครั้งแรก ผมมั่นใจว่าผมไม่สามารถมองภาพมันได้ดีกว่าเดิมหากกลับมาทำในครั้งต่อไป ผมจึงเลือกคำตอบที่คิดว่าดีที่สุด และฝนลงกระดาษคำตอบทันที
  • ต่อไปคือภาษาไทยที่เกี่ยวกับถามว่า ข้อความดังกล่าวสรุปถึงอะไร มีใจความว่าอะไร สำหรับผมมองว่า ก็ยังคงเป็นแนว รู้หรือไม่รู้ ดูออกหรือไม่ออก ดังนั้นก็พยายามทำไปเรื่อยๆ แต่ค่อนข้างไม่มั่นใจมากเท่าที่ควร เพราะว่าอาจจะมึนๆกับข้อความที่ค่อนข้างยาว แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงการเลือกตัวเลือกที่มัน “ไม่น่าไว้ใจ” มากที่สุด
  • รอบแรกที่ผมเปิดไปทำอนุกรม ผมยอมรับเลยว่า ผมคิดไม่ออกครับ 1 2 3 ข้อแรก ผมวาดโยงเส้นแล้วก็อุทานว่า “อะไรวะเนี่ย คิดไม่ออก” แต่สามารถทำข้อ 4 และ 5 ได้ เนื่องจากน่าจะเป็นข้อง่ายและยากสลับกันไป และที่เลือกทำอนุกรมก่อน เพราะถ้าคุณดูรูปแบบของมันออก คุณจะได้คำตอบทันที และคำตอบไม่ค่อยพลิกแพลงเท่าไร แต่ถ้าคุณมองว่าคำตอบมันหลอก อาจจะเพราะคุณเดาซะมากกว่า
  • หลังจากนั้นผมก็ข้ามไปทำภาษาไทยอีกครั้งอย่างเช่น การใช้คำรัดกุม เนื่องจากผมมองแล้วว่า ถ้าผมมองไม่ออกหรือไม่รู้สึกว่ามันรัดกุมหรือไม่ การที่จะมาทำทีหลัง ก็ไม่มีประโยชน์อะไรอยู่ดี ก็เลยเลือกที่จะลุยทำไปจนหมด รวมไปถึงการเรียงประโยคด้วย ยอมรับว่าค่อนข้างมึนงงอยู่พอสมควร แต่ก็สามารถทำได้ (มีความรู้สึกว่าทำได้)
  • เมื่อทำภาษาไทยจนหมดแล้ว ก็เริ่มทะยอยคิดคณิตศาสตร์ไปทีละข้อ
  • ผมจำไม่ได้ว่าลำดับการทำหลังจากนี้เป็นอย่างไร แต่จะอธิบายคร่าวๆเท่าที่พอจำความได้นะครับ

  • ผมจำได้ว่าผมกลับมาทำอนุกรมอีกรอบ (ข้อ 1 2 3 ที่ผมทำไม่ได้ตอนแรก) พอให้เวลากับมัน ค่อยๆลากเส้นดูความเปลี่ยนแปลงของตัวเลข ก็ทำให้ผมสามารถหาคำตอบได้ทุกข้อ (ในหัวข้ออนุกรม) แต่ไม่มั่นใจว่าฝนถูกข้อหรือเปล่า ยอมรับว่าจำคำตอบที่ตัวเองฝนไม่ได้แน่ชัดสักเท่าไร
  • สาเหตุเพราะกระดาษคำตอบเป็นแนวนอน อธิบายคือ มีการเรียงเลขข้อจาก 1 2 3 4 5 จากทางซ้ายไปขวา และ 6 7 8 9 10 จะขึ้นต้นบรรทัดใหม่ไปเรื่อยๆ เป็นต้น ทำให้หากคุณคุ้นชินกับการสอบราชการอื่นๆที่มีการเรียงข้อจากบนลงล่างและซ้ายไปขวาแล้วล่ะก็ รับรองว่ามึน โดยเฉพาะเวลาการทำข้ามข้อแบบที่ผมทำ
  • หัวข้อสดมภ์มีข้อที่ทำให้ต้องใช้เวลาคิดอยู่พักหนึ่ง แต่ก็คิดว่าจะถูกหรือผิดก็ไม่เป็นไร เอาเวลาไปทำข้อยากดีกว่า เลยทำการเลือกตัวเลือกที่คาดว่าน่าจะถูกต้องไปเลย และจะไม่กลับมาคำนวณซ้ำสองอีก เพื่อประหยัดเวลา
  • หลังจากนั้นเริ่มคิดข้อที่เป็นตารางแสดงข้อมูล เนื่องจากดูแล้วไม่น่าจะยากเท่ากับของ iTest และใช้เวลาในการหาค่าในช่องว่างสักระยะหนึ่ง แต่ด้วยการบวกเลขที่ค่อนข้างแม่นยำและรอบคอบ ทำให้สามารถหาคำตอบในข้อต่างๆได้อย่างถูกต้อง มีความมั่นใจว่าน่าจะได้ 4-5 คะแนนในหัวข้อนี้ (เพราะคำตอบที่ได้ใกล้เคียงกับตัวเลือกที่ข้อสอบให้มา)
  • หลังจากนั้นเริ่มทำคณิตศาสตร์ทั่วไปซึ่งต้องใช้เวลาในการคิดคำนวณพอสมควร แต่เนื่องจากลองทำแล้ว ได้คำตอบตรงตามตัวเลือก ก็เลยค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะใช่คำตอบที่ถูกต้อง
  • แต่ก็มีปัญหากับบางข้อ เช่นข้อที่ถามเรื่องความยาวด้านของ 4 เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งผมตั้งสมการได้ แต่รู้สึกว่ามันแปลกๆ (เพราะผมตั้งค่าสมการผิด) จนท้ายที่สุดผมก็ตัดสินใจลองแทนค่า เริ่มต้นจากตัวเลขที่ตัวเลือกให้มาคือ 8 และพบว่ามันผิด เลยเดาสุ่มไปที่เลข 28/3 ในโจทย์จะเป็น 9 เศษ 1/3 แต่ผมพิมพ์ตัวยกไม่เป็น… ซึ่งจากการลองเขียนไปเรื่อยๆผลคือ นั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ทำให้ผมรู้สึกค่อนข้างโอเค กับการจัดการเวลาที่ดีในช่วงต้น ทำให้ผมมีเวลาในการแทนค่าด้วยคำตอบที่ตัวเลือกให้มาจนสามารถพบคำตอบที่ถูกต้อง (วิธีที่ถูกต้องคือการแก้สมการ จะประหยัดเวลามากกว่า แต่เนื่องจากผมมีเวลาเหลือเฟือจึงสามารถนั่งแทนค่าสมการได้)
  • หลังจากนั้นไม่แน่ใจว่าทำข้อไหนต่อ แต่ข้อสุดท้ายที่ทำคือ ป้าแม่บ้านมหากาฬนั่นเอง
  • ข้อนี้ ผมวาดตารางประมาณ 3 รอบ จนหน้ากระดาษทดไม่พอ เลยจำใจยอมเปิดไปทดในหน้าหลังสุด ที่ทางผู้จัดทำข้อสอบได้เว้นไว้ให้ทด (แต่การที่นำกระดาษทดไปไว้หน้าหลังสุดของข้อสอบ เป็นปัญหาสำหรับการทดมาก เพราะต้องเปิดคร่อมไปมา)
  • หลังจากการวาดจนหาคำตอบแทบจะไม่ได้เลย ก็เหมือนว่าผมจะได้ไอเดียในการทำข้อสอบบางอย่าง จนท้ายที่สุดผมสามารถเติมช่องว่างของตารางได้เกือบสมบูรณ์ และท้ายที่สุดก็สามารถเติมคำตอบจนครบทั้งหมด 85 ข้อ
  • ซึ่งในขณะที่ผมทำข้อสอบข้อสุดท้ายนั้น ผมได้ยินกรรมการประกาศว่าเหลือเวลาอีก 5 นาที และแน่นอน ผมนั่งทำจนเกือบหมดเวลา และได้ส่งข้อสอบให้กับกรรมการก่อนจะหมดเวลาเพียง 2-3 นาที
  • จะเห็นได้ว่าผมมีเวลาในการทำข้อสอบเหลือมากเพียงพอจนสามารถหาคำตอบในข้อสอบที่ต้องใช้การคิดคำนวณได้ แม้ว่าจะต้องนั่งแทนค่าจากตัวเลือกหรือใช้วิธีการที่ใช้เวลามากเพียงใดก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเดาข้อสอบที่สามารถคิดคำนวณได้นั่นเองครับ

เพิ่มเติมเล็กน้อย การที่ผมไม่ทิ้งดิ่งหรือเดาข้อสอบคำนวณ ก็เพราะว่า มันเป็นเหมือนข้อสอบที่ให้คะแนนคุณทันที เมื่อคุณสามารถคิดคำตอบได้

ต่างกันกับข้อสอบที่เป็นความจำอย่างเช่น ภาษาไทยหรืออังกฤษ ที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้เลย มีเพียงแค่รู้หรือไม่รู้

ฉะนั้นการใช้เวลาที่เหลือในการทำข้อสอบคำนวณอย่างเต็มที่ จนได้คำตอบที่ถูกต้อง (หรือไม่ก็ตาม) มันจะช่วยทำให้คุณมั่นใจในผลสอบมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

สรุป

เริ่มต้นด้วยการ วิเคราะห์ข้อผิดพลาดของตนเองก่อนในอันดับแรก และปรับวิธีการอ่านหนังสือรวมทั้งวิธีการทำข้อสอบ โดยค้นหาติวเตอร์/โค้ช ที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเข้าใจในการสอบนั้นๆ เพื่อให้คุณได้รับเนื้อหาที่ตรงกันกับข้อสอบ 

เปรียบเสมือนเข็มทิศ ที่ชี้ทางให้คุณก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

จากนั้นเริ่มลงมือทำข้อสอบ ดูแนวข้อสอบย้อนหลังเพื่อให้คุ้นชินกับข้อสอบ จนสามารถมองด้วยตาเปล่าและบอกได้ทันทีว่า ข้อสอบข้อนั้นคือเรื่องอะไร มีวิธีการคิดและหาคำตอบอย่างไร

หลังจากที่ลองทำข้อสอบมามากเพียงพอแล้ว ถึงวันสอบจริง อย่าลืมเรื่องการจัดการบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ โดยการเริ่มทำข้อง่ายที่ใช้เวลาน้อย ไล่ไปจนถึงข้อยากที่ต้องใช้เวลาเยอะ อย่าประมาท ต้องรอบคอบและมีสติตลอดเวลาที่ทำข้อสอบ

ทุกคำตอบที่คุณฝนลงไปในวงกลม คือคำตอบที่ผ่านการคิดคำนวณ มิใช่จากการคาดเดา เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกคำตอบที่คุณเลือกจึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจคำตอบซ้ำ เพราะจากที่เคยได้ยินคนอื่นมักพูดกันว่า “คำตอบแรกมักถูกเสมอ” ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงพอสมควร

แต่ถ้าหากว่าคุณรู้สึกไม่มั่นใจในคำตอบเป็นอย่างยิ่ง แนะนำให้ ***ทำเครื่องหมายตัวโตและเห็นได้ชัด*** ทิ้งไว้ในข้อสอบ เพื่อให้สามารถกลับมาย้อนทำได้อีกครั้งในภายหลังได้อย่างสะดวก

อย่าลืมว่า อุปกรณ์การทำข้อสอบควรมีสำรอง เพื่อให้พร้อมใช้งานทันทีในกรณีฉุกเฉิน

เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถพิชิตสนามสอบราชการได้ทุกสนาม ด้วยความมั่นใจในการทำข้อสอบเต็มเปี่ยม

ขอให้โชคดีและประสบความสำเร็จบนเส้นทางรับราชการทุกท่านครับ